Carbon Credit กับโอกาส และความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนควรรู้

ทั้งนี้ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ให้คำนิยามว่า Carbon Credit หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่สิ่งแวดล้อม โดยรวมถึง การเก็บกัก หรือ การดูดกลับด้วย ซึ่งสิทธิดังกล่าวจะต้องมีการรับรองโดยหน่วยรับรอง ตามระเบียบหรือวิธีการของทางราชการที่เป็นที่ยอมรับหรือเทียบได้กับระดับสากล โดย Carbon Credit แบ่งออกเป็น 2 ตลาดด้วยกัน คือ

1) ตลาดภาคบังคับ จากการที่ภาครัฐกำหนดนโยบาย กำหนดข้อจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของแต่ละอุตสาหกรรมไว้ พร้อมกำหนดค่าปรับ โดยกรณีที่ปล่อยเกินสิทธิก็จะถูกปรับ หรือต้องเสียภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) แต่ก็มีการเปิดทางให้สามารถใช้ ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System : ETS) เพื่อเทรดกับผู้ประกอบการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยกว่าสิทธิที่มีได้

2) ตลาดภาคสมัครใจ ที่ภาครัฐไม่ได้บังคับกำหนดสิทธิการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ไม่ได้กำหนดค่าปรับไว้ แต่ภาคเอกชนมีการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามความสมัครใจเอง โดยจะใช้กลไก Carbon Offset ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ Carbon Credit แต่เป็นรูปแบบที่ดำเนินการระหว่างภาคเอกชนกันเอง โดยในส่วนของประเทศไทย ก็จัดอยู่ในกลุ่มตลาดภาคสมัครใจ

การให้องค์กรบุคคลที่สาม (Third Party) ทำหน้าที่รับรองการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนตามมาตรฐานซึ่งแต่ละประเทศก็อาจใช้มาตรฐานไม่เหมือนกัน โดยหน่วยในการนับคือ ตันคาร์บอนเทียบเท่า ซึ่งจะนำไปใช้เพื่อชดเชยก๊าซคาร์บอนที่ลดไม่ได้ ทั้งใน Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงขององค์กร Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้า และ Scope 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่นๆ

จุดเด่นของ Carbon Offset ก็คือ สามารถเก็บ ส่วนที่เกิน ไปใช้ในปีถัดไปได้ หรือจะขายให้กับองค์กรอื่นก็ได้เช่นกัน โดยอาจซื้อกันเองโดยตรง (Over the counter : OTC) หรือซื้อขายผ่านตลาดแลกเปลี่ยน

ส่วนรูปแบบที่สองคือ Renewable Energy Certificates (RECs) เป็นกลไกที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถอ้างสิทธิ์การผลิตและการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ได้ ซึ่ง REC ถือเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญของผู้ผลิตในการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และของผู้ใช้ไฟฟ้าในการจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก Scope2 โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำหน้าที่เป็นเป็นหน่วยงานหลักในการออกใบรับรองสิทธิ RECs ในประเทศไทย

ในส่วนของโอกาสและความเสี่ยงจาก Carbon Credit ที่มีต่อการลงทุนนั้น หากบริษัทใดที่สามารถลดคาร์บอนจนมีส่วนเกินที่นำไปขายต่อได้ ก็จะทำให้บริษัทนั้นมีความน่าสนใจมากขึ้น สำหรับผู้ลงทุนที่มองหาการลงทุนในสินทรัพย์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสการลงทุนในบริษัทที่มีนวัตกรรมในการลดหรือดูดกลับการปล่อยก๊าซคาร์บอนซึ่งจะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ เช่น ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอน เป็นต้น

ขณะที่ บริษัทที่ยังไม่ตื่นตัวในการมีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงกว่าสิทธิที่สามารถปล่อยได้ จนทำให้ต้องไปซื้อ Carbon Credit หรือ Carbon Offset จากบริษัทอื่นมาชดเชย ก็จะมีความน่าสนใจน้อยลง เนื่องจากการซื้อทำให้บริษัทมีต้นทุนในการดำเนินงานสูงขึ้น ซึ่งราคาของคาร์บอนนั้นก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม มีความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนต้องระมัดระวังเช่นกัน โดยเฉพาะ Carbon Offset ที่อาจมีเรื่อง Greenwashing หรือ การฟอกเขียว เกิดขึ้นได้ โดยตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้น ได้แก่ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับอุปกรณ์สำหรับตกแต่งหรือซ่อมแซมบ้านแห่งหนึ่งระบุว่า จะผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่มาจากไม้ที่ปลูกขึ้นเองเพียงอย่างเดียว แต่สุดท้ายก็พบว่า มีการรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ และใช้ไม้ผิดกฎหมายมาผลิตด้วย

 


หมวดเดียวกัน

ยังไม่ทราบชะตากรรม! ฮอฯปธน.อิหร่านตก จนท.เร่งค้นหา

เจ้าหน้าที่อิหร่านเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวซึ่งมีนายฮอสเซน อามีร์ อับดุล...

สุดชื่นมื่น ! แมนฯซิตี้ ฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีก

สุดชื่นมื่น ! แมนฯซิตี้ ฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีก นับว่าเป็นการฉลองแชมป์ประจำฤดูกาล 2023-2024 นับเป็นการ...

4 สัญญาณบวกหนุนผลตอบแทนหุ้นทั่วโลกไปต่อ

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดัชนี MSCI World ที่เป็นตัวแทนของราคาหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนเป็นบว...

‘กูรู’เปิดทางรอด‘ธุรกิจ บล.’ หลังเผชิญดัชนีต่ำสุดรอบ 15 ปี ฉุดกำไรทรุด แนะหา ‘รายได้’ ใหม่เสริม

บรรยากาศลงทุนใน “ตลาดหุ้นไทย” ยังคงเผชิญมรสุมไม่จบสิ้น ! ทั้งปัจจัยกระทบภายในและนอก สะท้อนผ่านดัชนี ...