จับตา '2 ปมร้อง' ขยับไทม์ไลน์ ‘เลือก สว.’

Key Point :

  • การเลือก สว. รอบนี้ ถูกจับตาจากภาคสังคม ต่อกระบวนการได้มาที่เป็นตัวแทนประชาชนจริงๆ ไม่ใช่กลุ่มจัดตั้ง-บ้านใหญ่
  • กกต.ออกระเบียบว่าด้วยการแนะนำตัว สร้างความกังขา มีผู้ได้รับผลกระทบยื่นเรื่องต่อศาลปกครองให้เพิกถอน
  • ศาลปกครองนัดไต่สวน 16พ.ค. ห่างจากร่างไทม์ไลน์ ที่กกต. วางไว้แค่ 3 วัน
  • นอกจากนั้นกฎใหญ่ว่าด้วยวิธีเลือก ยังมีผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน 
  • 2กรณีนั้น หากองค์กรชี้ทางที่เป็นคุณกับผู้ร้อง ย่อมกระทบไทม์ไลน์เลือก สว.ที่ กกต.วางไว้

การเลือก “สว.” ที่เตรียมเริ่มต้นนับหนึ่ง ช่วงกลางเดือน พ.ค. นี้ ดูเหมือนจะมีปัญหาให้ “กรรมการการเลือกตั้ง” ต้องหาทางแก้ และทางออก อย่างต่อเนื่อง

ไฮไลต์เรื่องนี้ ถูกฉายไปที่ “ระเบียบของ กกต.” ที่ออกแบบมาเพื่อกำกับการแนะนำตัวของผู้สมัคร สว. แม้ “ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง” หาคำอธิบายว่า ไม่ได้ปิดกั้นตามที่มีผู้ร้องเรียนว่า “กระทบต่อสิทธิเสรีภาพ”

ล่าสุด ศาลปกครองกลาง รับคำร้องของ กลุ่มว่าที่ผู้สมัครสว. นำโดย “พนัส ทัศนียานนท์” อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ยื่นให้เพิกถอน ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 โดย “ศาลปกครองกลาง” นัดไต่สวนแล้ว ในวันที่ 16 พ.ค.นี้

ช่วงเวลาที่ศาลปกครองกลางนัดไต่สวน หากพิจารณาบนปฏิทินที่ “กกต.” กำหนดเป็นไทม์ไลน์เลือก สว. จะพบว่ามีความเหลื่อมกัน

และหากศาลปกครองกลางไต่สวน และมีคำสั่งที่เข้าทาง “ผู้ร้อง” นั่นหมายความว่า กกต.อาจต้องออกระเบียบใหม่ ที่ส่งผลทำให้ “ไทม์ไลน์เลือกสว.” ถูกขยับ เพื่อไม่ให้เกิดข้อครหาว่า กกต.ปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นธรรม

ขณะที่ตามไทม์ไลน์เลือก สว.​ตามที่ กกต. ร่างแผนไว้ คือ ประกาศวันกำหนดและวันที่รับสมัคร คือ 13 พ.ค.2567

ประกาศวันเลือก สว.ระดับอำเภอ คือ 9 มิ.ย.2567 วันเลือกสว.ระดับ จังหวัด คือ 16 มิ.ย.2567 วันเลือก สว. ระดับประเทศ คือ 26 มิ.ย.2567 และ ประกาศผลเลือกตั้งสว. คือ 2 ก.ค.2567 กรณีกกต.เห็นว่าการเลือกเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม

ต่อเรื่องนี้มีความเคลื่อนไหวที่สอดคล้องของ “กลุ่มวีวอช” ที่เคลื่อนไหวจับตาการเลือก สว.และแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับประกาศ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. และออกจดหมายเปิดผนึก ล่าชื่อประชาชน ให้ กกต.ทบทวนระเบียบฉบับนี้เช่นเดียวกัน

พร้อมกับเรียกร้องให้ กกต.กำหนดมาตรการและแผนงานในการส่งเสริมการรับรู้ การมีส่วนร่วม และการตรวจสอบการทุจริตโดยประชาชน สื่อมวลชน อย่างเปิดกว้าง ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

ทว่า ประเด็น “ระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแนะนำตัว” เป็นเหมือนฟางเส้นเล็กที่ขอดปมปัญหาขั้นต้นเท่านั้น เพราะเนื้อแท้ของการเลือก สว. นั้น อาจมีปมใหญ่ที่ซ่อนอยู่

ทั้งในกระบวนการร้องต่อ “ศาลรัฐธรรมนูญ” ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน โดย “ธีรยุทธ สุวรรณเกษร” ทนายความอิสระ ในประเด็นวิธีเลือกของ สว. ที่ออกแบบให้เลือกกันภายในกลุ่ม และเลือกนอกกลุ่ม หรือแบบเลือกไขว้ ที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสว. พ.ศ.2561 อาจขัดกับหลักของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกที่สุจริตและเที่ยงธรรม เพราะไร้บทบัญญัติ การป้องกันการสมยอมระหว่าง “ผู้สมัคร”

ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” รับเรื่องไว้พิจารณา และก่อนวินิจฉัย ได้ร้องขอให้ “สำนักงานเลขาธิการสภาฯ” ชี้แจงเจตนารมณ์ในการออกกฎหมาย และขอให้กกต.ชี้แจงประเด็นข้อร้องเรียน

กับกระบวนการตรากฎหมายและเจตนารมณ์นั้น เป็นที่จับตาว่า หากผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าเป็นไปตามคำร้องของผู้ร้อง และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้ “ชี้ขาด” อาจจะกระทบต่อไทม์ไลน์ การเลือกสว. ก็เป็นได้

ทว่า ในประเด็นนี้ มีข้อสังเกตจาก “คมสัน โพธิ์คง” นักวิชาการนิติศาสตร์ มองว่า อาจไปไม่ถึงขั้นนั้น เพราะกระบวนการตรากฎหมายลูก หลังจากที่ยกร่างเสร็จ จะมีกระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ก่อนทูลเกล้าฯ ดังนั้นเมื่อขั้นตอนนั้นผ่านไป จนมีกฎหมายว่าด้วยการเลือก สว.แล้ว คงไม่มีประเด็นย้อนแย้งสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญรับรองไปก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี “อ.คมสัน” ฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 50 และคร่ำหวอดในสภานิติบัญญัติ ยุคที่มีสมัชชาแห่งชาติทำหน้าที่ มองว่า การออกแบบกลไกของสว. ผ่านการเลือกกันเองตามสาขาอาชีพ ถอดแบบมาจากการเลือกของสมัชชาแห่งชาติปี 2550 ปฏิเสธไม่ได้ว่า ต้นแบบนั้นมีปัญหา เพราะกระบวนการเลือกกันเองพบว่า “มีการจัดตั้ง” เพื่อให้คนที่ถูกวางตัวฝ่าด่านเข้ามาทำหน้าที่

สำหรับการเลือกสว.ที่ถูกออกแบบไว้ใน รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันใน มาตรา 107 “คมสัน” ยังมองว่ามีปัญหาไม่แพ้กัน หรืออาจจะยุ่งและมีปัญหามากกว่า เพราะเป็นกระบวนการที่ต้องแข่งขัน การฟ้องร้องย่อมเกิดขึ้นได้ 

อีกทั้งการจัดการปัญหาทำได้ไม่ง่าย แม้กติกาจะกำหนดให้ กกต.ประกาศผลเลือกสว.ภายใน 5 วันหลังเลือกระดับจังหวัดเสร็จ ทว่าไม่ใช่บทบังคับ เพราะหากมีประเด็นร้องเรียนเรื่องการเลือกที่ไม่สุจริต เที่ยงธรรม กกต. สามารถชะลอการประกาศออกไปได้

หรือหาก กกต.เลือกประกาศไปก่อนแล้วสอยทีหลัง จะยิ่งมีปัญหา เพราะการกำหนดเลือก สว.แบบแบ่งเป็นระดับ ยากที่จะรื้อขั้นตอนเพื่อแก้ไขให้การเลือกเป็นที่ยอมรับ และเห็นพ้องต้องกันว่า วิธีการเลือกสว.นั้นสุจริตเที่ยงธรรมอย่างแท้จริง

การได้มาซึ่ง สว. รอบนี้ ถูกตั้งเป้าหมายว่า เพื่อให้ได้ตัวแทนประชาชน เข้ามาเป็นกลไก “เปลี่ยนประเทศ” ไม่ใช่ทำหน้าที่เป็น “ตรายาง” เหมือนที่ผ่านมา ทำให้ถูกจับตาอย่างมากว่า “กกต.” จะทำหน้าที่ต่อการเลือก สว.ครั้งนี้ ในทิศทางใดกันแน่.


หมวดเดียวกัน

ยังไม่ทราบชะตากรรม! ฮอฯปธน.อิหร่านตก จนท.เร่งค้นหา

เจ้าหน้าที่อิหร่านเปิดเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า เฮลิคอปเตอร์ลำดังกล่าวซึ่งมีนายฮอสเซน อามีร์ อับดุล...

สุดชื่นมื่น ! แมนฯซิตี้ ฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีก

สุดชื่นมื่น ! แมนฯซิตี้ ฉลองแชมป์พรีเมียร์ลีก นับว่าเป็นการฉลองแชมป์ประจำฤดูกาล 2023-2024 นับเป็นการ...

4 สัญญาณบวกหนุนผลตอบแทนหุ้นทั่วโลกไปต่อ

ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดัชนี MSCI World ที่เป็นตัวแทนของราคาหุ้นทั่วโลกให้ผลตอบแทนเป็นบว...

‘กูรู’เปิดทางรอด‘ธุรกิจ บล.’ หลังเผชิญดัชนีต่ำสุดรอบ 15 ปี ฉุดกำไรทรุด แนะหา ‘รายได้’ ใหม่เสริม

บรรยากาศลงทุนใน “ตลาดหุ้นไทย” ยังคงเผชิญมรสุมไม่จบสิ้น ! ทั้งปัจจัยกระทบภายในและนอก สะท้อนผ่านดัชนี ...