เปิด ‘ทางรอด’ วิกฤติขาดไฟฟ้าจาก AI ‘ดาต้าเซ็นเตอร์พลังนิวเคลียร์’ อาจเป็นคำตอบ

เคยสงสัยไหมว่า เนื้อหาในอินเทอร์เน็ต เว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย แอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่เราใช้งานอยู่นั้น ขับเคลื่อนด้วยอะไร? คำตอบคือ “ดาต้าเซ็นเตอร์” (Data Center) หัวใจสำคัญในการเป็นฐานข้อมูล และประมวลผลเนื้อหาที่เราสร้างขึ้นทุกวัน

ยิ่งในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเบ่งบาน ความต้องการดาต้าเซ็นเตอร์สำหรับข้อมูลมหาศาลก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ และสิ่งที่ตามมาคือ การใช้พลังงานไฟฟ้าก็สูงขึ้นเป็นทวีคูณ

คริส ชาร์ป (Chris Sharp) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี (CTO) ของ Digital Realty ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันที่ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างและเทคโนโลยีขั้นสูง กล่าวว่า ดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วไปต้องการพลังงาน 32 เมกะวัตต์ แต่สำหรับดาต้าเซ็นเตอร์ AI ต้องการพลังงานสูงถึง 80 เมกะวัตต์!

ด้วยเหตุนี้ ในอนาคตเป็นไปได้ว่า การใช้งาน AI อาจต้องแย่งไฟฟ้ากับภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม จนอาจนำไปสู่ “วิกฤติขาดแคลนไฟฟ้า” ไฟฟ้าที่มีอยู่ไม่เสถียรและติด ๆ ดับ ๆ

ยิ่งแหล่งผลิตไฟฟ้าสำคัญของไทยอย่างก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังหมดลงเรื่อย ๆ โดยหากไทยไม่สามารถหาแหล่งใหม่เพิ่มได้ ก็อาจหมดจากอ่าวไทยภายใน 6-7 ปีข้างหน้า จึงเป็นความเสี่ยงที่ไทยต้องรีบเตรียมรับมือ

ทางรอด คือ ดาต้าเซ็นเตอร์แบบปฏิกรณ์นิวเคลียร์?

ในการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอสำหรับ AI และขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้ทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะด้านโลกร้อน แหล่งพลังงานสะอาดจึงเหลือเพียงไม่กี่อย่าง นั่นคือ โซลาร์เซลล์ กังหันลม และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยพลังงานจากแดดและลม ถือว่าไม่แน่นอนและผลิตไฟฟ้าได้น้อยเกินไป

ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงมองไปที่ “พลังงานนิวเคลียร์” แทน และคาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้ ดาต้าเซนเตอร์ จำเป็นต้องติดตั้งเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactor: SMR) เป็นของตัวเอง ซึ่งมีขนาดเล็ก และผลิตพลังงานได้ประมาณ 1 ใน 3 จากเครื่องปฏิกรณ์แบบดั้งเดิม แต่เหมาะกับการใช้งานในศูนย์ดาต้าเซนเตอร์

- ภาพตรงกลางคือ เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR สำหรับ Data Center (เครดิต: IAEA) -

ขณะนี้ ยังไม่มีการใช้งานเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR ในเชิงพาณิชย์ทั่วไป แต่หลายประเทศกำลังเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีนี้ เช่น จีน สหรัฐ และสหราชอาณาจักร โดยในสหรัฐ สำนักงานพลังงานนิวเคลียร์ได้อนุมัติแบบเครื่องปฏิกรณ์ SMR ของบริษัท NuScale แล้ว

ส่วนในสหราชอาณาจักร สำนักงานดูแลพลังงานนิวเคลียร์ยังคงอยู่ในระหว่างศึกษาแบบเครื่องปฏิกรณ์ SMR ของบริษัท Rolls-Royce และบริษัท Holtec International 

นอกจากนี้ บริษัทด้านพลังงานของสหรัฐอย่าง Westinghouse วางแผนที่จะสร้าง SMR 4 เครื่องทางตะวันออกเฉียงเหนือของอังกฤษ ในพื้นที่ Tees Valley ใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Hartlepool ที่มีอยู่เดิม

- เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR (เครดิต: NuScale Power) -

ข้อกังวลต้นทุนสร้าง SMR และกากนิวเคลียร์

ในขณะที่เครื่องปฏิกรณ์ SMR ดูเป็นความหวังใหม่ด้านพลังงานสำหรับ AI แต่ผู้เชี่ยวชาญบางคนมองว่า ต้นทุนของเครื่องอาจสูงเกินไป และการจัดการกากนิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องง่าย โดย ดร. ดั๊ก พาร์ (Dr. Doug Parr) หัวหน้าฝ่ายวิทยาศาสตร์ของ Greenpeace องค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมแห่งสหราชอาณาจักรมองว่า การสร้าง SMR มีราคาแพงเกินไป และข้อมูลค่าใช้จ่ายที่ระบุไว้ในปัจจุบันนั้นต่ำกว่าความเป็นจริง โดยเมื่อมีการก่อสร้าง อาจมีอุปสรรคล่าช้าและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามมา

ด้วยเหตุนี้ ดร. พาร์จึงเชื่อว่า ผู้ประกอบการดาต้าเซ็นเตอร์อาจเลิกใช้ SMR เมื่อทราบถึงค่าใช้จ่ายที่แท้จริง และหันไปใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นที่ถูกกว่าแทน

อีกทั้ง Greenpeace ยังมองว่า พลังงานนิวเคลียร์มีความเสี่ยงด้านความปลอดภัยสูง ทั้งจากโอกาสเกิดอุบัติเหตุ และปัญหาการจัดการขยะกัมมันตรังสี

นอกจากนี้ ไมเคิล บลัค (Michael Bluck) จากศูนย์วิศวกรรมนิวเคลียร์แห่ง Imperial College London กล่าวว่า "เครื่อง SMR มีอยู่ประมาณ 50 แบบ แต่ความท้าทายคือ การสร้างเครื่องให้สามารถผลิตซ้ำได้ง่ายในรูปแบบโรงงาน"

- Data Center (เครดิต: Shutterstock) -

พลังงานนิวเคลียร์อนาคตที่ปลอดภัยกว่าเดิม

แม้มีหลายฝ่ายแสดงความกังวลถึงเครื่อง SMR แต่ถ้าโลกไม่ทำอะไร ก็อาจยากที่จะหลีกหนีวิกฤติพลังงาน ดังนั้น ทางแก้อาจไม่ใช่การไม่สร้าง แต่เป็นการทำให้ปลอดภัยมากขึ้นต่างหาก คือกุญแจสำคัญ

หนึ่งในบริษัทที่พยายามพัฒนาความปลอดภัยของเครื่อง SMR คือ บริษัท Oklo จากอเมริกา นำโดย แซม อัลท์แมน (Sam Altman) แห่ง OpenAI ในฐานะประธานบริษัท Oklo ได้ตั้งเป้าหมายพัฒนาเครื่อง SMR ที่สามารถสร้างได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย โดยเทคโนโลยีของ Oklo จะช่วยลดปริมาณกากนิวเคลียร์ที่เป็นปัญหาใหญ่ของพลังงานนิวเคลียร์แบบดั้งเดิม พร้อมเตรียมนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ภายใน 4 ปีข้างหน้า (ปี 2571) เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงาน

“ผู้คนมักตั้งคำถามถึง ความเหมาะสมของพลังงานนิวเคลียร์ เนื่องจากปัญหาขยะกัมมันตรังสีและความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ แต่เทคโนโลยีของเราสามารถนำกัมมันตรังสีกลับมาใช้ใหม่หลายครั้งภายในเครื่องปฏิกรณ์เดียว ช่วยลดปริมาณขยะกัมมันตรังสี และเครื่องปฏิกรณ์รุ่นใหม่นี้ยังมีระบบระบายความร้อนและควบคุมตัวเอง ทำให้ไม่สามารถเกิดการหลอมละลายได้” ไบรอัน กิทท์ (Brian Gitt) ซึ่งดูแลแผนพัฒนาเครื่อง SMR ของบริษัท Oklo กล่าว

เหล่านี้คือความเคลื่อนไหวที่น่าติดตามในการพัฒนา “พลังงานนิวเคลียร์” ให้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยแก้ปัญญาวิกฤติขาดแคลนไฟฟ้าจาก AI

อ้างอิง: bbc, oklo, tdri, eppo

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

เกษตรฯ วางกรอบแก้ปัญหาฝุ่น พบเผาพื้นที่ตนเอง งดช่วยเหลือทุกกรณี

นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการ เป็นประธานการประชุม...

เปิด5ทำเล“ราคาที่ดิน”เพิ่มสูงสุด!นครปฐมรั้งแชมป์พุ่ง82.1%แซงกทม.ชั้นใน

จากราคาที่ดินของโซนกรุงเทพชั้นในเริ่มมีการปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจเกิดจากการพัฒนาโครงการ...

ถ่ายทอดสด ทีมชาติไทย U20 - ออสเตรเลีย ฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน U19 รอบรองฯ

ทีมชาติไทย U20 เพิ่งยันเสมอ มาเลเซีย 1-1 ทำให้จบเกมรอบแบ่งกลุ่มในฐานะ รองแชมป์กลุ่ม C ซึ่งตารางบอลถู...

ตารางบอล โอลิมปิก 2024 วันเสาร์ที่ 27 ก.ค. 67 ลิงค์ถ่ายทอดสดทุกคู่

โปรแกรมฟุตบอล วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม 2567 ตารางแข่งฟุตบอลชาย โอลิมปิก 2024 รอบแบ่งกลุ่ม นัดที่ 2 อัป...