คาดราคาทองร่วงจากนิวไฮ ดัน 'แบงก์ชาติจีน' กลับมาลุยซื้อทองคำสำรองต่อ

สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานอ้างถึงความเห็นของนักวิเคราะห์ที่มองว่า "ธนาคารกลางจีน” ซึ่งเป็นธนาคารกลางที่ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุด คาดว่าจะกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้งหลังจากราคาทองคำลดลงจากระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,449.89 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในวันที่ 20 พ.ค. โดยมองว่าปัจจัยพื้นฐานที่สนับสนุนราคาทองคำยังคงแข็งแกร่ง

หลังจากธนาคารกลางจีน (PBOC) เพิ่มการซื้อทองคำเข้าสู่คลังสำรองอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 18 เดือนติดต่อกันในปีนี้  แต่ข้อมูลอย่างเป็นทางการล่าสุดในเดือนพ.ค.67 ระบุว่า ปริมาณทองคำสำรองของจีนไม่มีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ราคาทองโลกของทองคำลดลงอย่างรวดเร็วในวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา

เดวิด เทต ซีอีโอของสภาทองคำโลก (WGC) กล่าวว่าข้อมูลของจีนแสดงให้เห็นการชะลอการซื้อ แต่จีนกำลังจับตาราคาทอง หากราคาร่วงลงมาอยู่ที่ระดับ 2,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เป็นไปได้ว่าธนาคารกลางจีนจะกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้ง

โรน่า โอคอนเนลล์  นักวิเคราะห์จาก StoneX กล่าวว่า การซื้อทองคำของจีนที่ลดลงในเดือนเมษายน และไม่มีการซื้อเพิ่มในเดือนพฤษภาคมนั้น ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่กลับมารายงานตัวเลขการซื้อทองอีกครั้ง

ด้านผลสำรวจจากหน่วยงานคลังสมองด้านการเงินและการคลัง OMFIF พบว่า ธนาคารกลางต่างๆ มีแผนที่จะเพิ่มการถือครองทองคำในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดย เคแอล แยป ประธานสมาคมการค้าทองคำสิงคโปร์ กล่าวว่า “ธนาคารกลางกำลังซื้อทองคำ และจีนเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดทองคำมีแนวโน้มขาขึ้น เนื่องจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์และการเลือกตั้ง คาดว่าจีนจะซื้อทองคำเพิ่มอีก”

‘จีน’รายใหญ่ตุนทอง

"ราคาทองพุ่งทำนิวไฮ"ในปีนี้ มีปัจจัยหนุนมาจากความคาดหวังเรื่องการลดดอกเบี้ยและการซื้อทองคำอย่างแข็งแกร่งจากธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งมีแรงกระตุ้นมาจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามข้อมูลของสภาทองคำโลก (WGC) ธนาคารกลางจีนเป็นผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดในภาครัฐบาลประจำปี 2566 โดยมีการซื้อสุทธิ 7.23 ล้านออนซ์ หรือราว 224.9 ตัน ซึ่งเป็นปริมาณการซื้อสุทธิต่อปีที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2520

ขณะนี้ราคาทองคำ เคลื่อนไหวที่ระดับ 2,303.39 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากร่วง 1% ถือเป็นการลงแรงที่สุดในรอบ 3 ปีครึ่ง เนื่องจากข้อมูลปริมาณทองคำสำรองของจีนชะลอตัว

สิงคโปร์อนาคตฮับ‘ทองคำ’

สภาทองคำโลก (WGC) คาดการณ์ว่า สิงคโปร์จะกลายเป็นศูนย์กลางทองคำชั้นนำของโลก เนื่องจากความต้องการทองคำในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่กำลังเพิ่มขึ้น โดยส่วนใหญ่ของตลาดเหล่านี้ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียเนื่องจาก สิงคโปร์อยู่ใกล้แหล่งผลิตทองคำประมาณ 25% ของโลก เช่น จีน ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี และลาว

นายโสภณ ฟาน หัวหน้าฝ่ายภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกฃของสภาทองคำโลกกล่าวในการประชุม Asia Pacific Precious Metals Conference ว่า ปัจจัยสนับสนุนอีกประการหนึ่งคือ ความใกล้ชิดของสิงคโปร์กับธนาคารกลางต่างๆ ที่กำลังซื้อทองคำเข้าคลังสำรอง 

“สิงคโปร์มีโอกาสเป็นจุดศูนย์กลางทองคำที่สำคัญในการสร้างสมดุลใหม่ซึ่งกำลังเคลื่อนไปยังภูมิภาคเอเชีย”

ธนาคารกลางทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นกับการหาแหล่งสำรองทองคำอย่างเป็นทางการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศที่ผันผวน ซึ่งสิงคโปร์อาจกลายเป็นทางเลือกแทนลอนดอนและนิวยอร์ก ในฐานะศูนย์กลางการเก็บรักษาทองคำของธนาคารกลาง

รวมทั้งปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งเสริมให้สิงคโปร์มีบทบาทสำคัญในอนาคตของตลาดทองคำ ได้แก่ ความมุ่งมั่นของประเทศต่อเสถียรภาพทางการเมือง และการยกเลิกภาษีทองคำเพื่อการลงทุน โดยรัฐบาลสิงคโปร์ได้ยกเว้นภาษีสินค้าและบริการ หรือที่เรียกว่าภาษีขาย จากโลหะมีค่าประเภทการลงทุนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555

สิงคโปร์มีแนวโน้มกลายเป็นศูนย์กลางทองคำชั้นนำ เนื่องจากความต้องของตลาดทองคำในภูมิภาคเอเชียที่กำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งไม่ได้มีเพียงจีนเท่านั้นที่เป็นประเทศผู้บริโภคทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก 

ตามรายงานล่าสุดของ WGC ระบุว่า ญี่ปุ่นยังคงมีปริมาณความต้องการทองคำที่แข็งแกร่ง จากยอดความต้องการเครื่องประดับทองคำในไตรมาสแรกสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2561 รวมถึงเกาหลีใต้ที่มีการซื้อทองคำเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบกว่า 2 ปี

 

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

เราทำได้! ฝรั่งเศสโล่งอก พิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ผ่านไปด้วยดี

ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง เลือกที่จะทำ พิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ใน แม่น้ำแซน แทนที่จะเป็นใ...

ทรัมป์ เตรียมกลับไปหาเสียงเมืองบัตเลอร์ โพลนำแฮร์ริส 2%

ทรัมป์ เผยเมื่อวันศุกร์ (26 ก.ค.) ว่า การหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ เพื่อเป็นเกียรติแด่นายคอเรย์ คอมเพอ...

วินาศกรรมรถไฟก่อนโอลิมปิก รัสเซียเกี่ยวข้องหรือไม่?

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ (26 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุลอบวางเพลิงกล่องสัญญาณเคเบ...

พิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ผ่านเรื่องเล่าการปฏิวัติ สู่เสรีภาพและความเท่าเทียม

พิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ปารีสเกมส์ จบลงไปแล้วอย่างราบรื่น ครั้งแรกที่ไม่ได้จัดขบวนพาเหรดในสนามกีฬา เพร...