‘ช่องว่างกฎหมายคุม AI’ ในเอเชีย อุปสรรคใหญ่ ทำบริษัทเทคฯปวดหัว

จากข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมาย นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) และนักธุรกิจ ระบุว่า แนวทางกำกับดูแลเอไอ ในเอเชีย สร้างความไม่แน่นอนมากขึ้นต่อบริษัททั่วทั้งภูมิภาคที่มีความกระตือรือร้นจะออกเทคโนโลยีใหม่ ๆ

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานเมื่อวันจันทร์ (10 มิ.ย.) ว่า ตั้งแต่จีนไปจนถึงสิงคโปร์ หลายรัฐบาลมีความลังเลที่จะปฏิบัติตามกฎควบคุมการใช้เอไอของภูมิภาค และหันไปใช้นโยบายเกี่ยวกับเอไอที่ได้รับการปรับปรุงให้เข้ากับวาระแห่งชาติของประเทศนั้น ๆ แทน

แนวทางกำกับดูแลเอไอที่ปรับปรุงนั้น แตกต่างจากกฎหมายเอไอของสหภาพยุโรป (อียู) ที่เพิ่งอนุมัติไม่นานมานี้ และเสี่ยงเป็นทุ่นระเบิดที่อาจส่งผลกระทบต่อหลายบริษัทในเอเชีย

เอเดรียน ฟิชเชอร์” หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคมในเอเชีย จากสำนักกฎหมาย Linklaters ในอังกฤษ เตือนว่า สิ่งที่จำกลายเป็นปัญหาคือ ประเทศในเอเชีย 15-20 ประเทศ เริ่มใช้กฎหมายที่แตกต่างกันไปอย่างเห็นได้ชัด

KPMG หนึ่งในบริษัทตรวจสอบบัญชีที่ใหญ่ที่สุดในโลก เผยเมื่อไม่นานมานี้ว่า ช่องว่างในการกำกับดูแลเอไอคือความเสี่ยงสำคัญที่อาจกระทบการเติบโตของธุรกิจในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แม้การลงทุนในอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า จากปี 2556 - 2566

ทั่วโลกเดินหน้าออกกฎควบคุมเอไอ

อียูเดินหน้าอนุมัติร่างกฎหมายเอไอแล้ว ซึ่งถือเป็นกฎหมายที่ครอบคลุมเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีฉบับแรกของโลก 

โดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลต่อผู้ให้บริการและผู้พัฒนาระบบเอไอที่อยู่ในตลาดหรือใช้ภายในอียู และอาจผลบังคับใช้เป็นลำดับในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ได้เริ่มหารือเกี่ยวกับความเสี่ยงเอไอเป็นครั้งแรก แต่ยังไม่มีผลที่เป็นรูปธรรมจากการประชุมดังกล่าว

ในเอเชีย ประเทศจีนถือเป็นประเทศที่เดินหน้าเชิงรุกเกี่ยวกับการกำหนดกฎระเบียบด้านเอไอ แม้กฎหมายเอไอทั่วไปยังไม่นำมาบังคับใช้ แต่แนวทางกำกับดูแลอุตสาหกรรมนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2565 ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการแนะนำของอัลกอริทึม ไปจนถึงแนวทางเกี่ยวกับการควบคุมข้อมูลหลอกลวง และความต้องการให้เอไอส่งเสริมคุณค่าที่สำคัญของลัทธิสังคมนิยม

ทั้งนี้ กฎหมายเอไอทั่วไปของจีน ได้นำไปรวมอยู่ในแผนกฎหมายประจำปีในปี 2566 และคณะรัฐมนตรีจีนเตรียมลงนามร่างกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติทบทวนต่อไปในปีนี้

“ลาวีนา ไอเลอร์” นักวิเคราะห์จาก Economist Intelligence Unit เผยกับนิกเคอิเอเชียว่า ปัจจุบัน ประเทศในเอเชียกำกับดูแลเอไอ โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายเทคโนโลยีระดับชาติ แต่ขาดกระบวนการและระบบที่มีความเฉพาะสำหรับเอไอ ยกเว้นประเทศจีน

“ประเทศจีนเป็นข้อยกเว้นเพียงแห่งเดียว เนื่องจากรัฐบาลเร่งออกแนวทางกำกับดูแล (เอไอ) ในปี 2566 เพื่อร่างกฎหมายเอไอแห่งชาติที่สามารถนำไปพิจารณาต่อในปี 2567 ได้”

อย่างไรก็ตาม บางประเทศยังคงมีความระมัดระวังในการออกกฎหมายที่ทำให้ธุรกิจเผชิญกับกฎระเบียบที่เข้มงวด และอาจทำให้ชวดเงินลงทุนด้านเอไอไป

เอเชียกำลังเริ่ม

ไม่นานมานี้ ญี่ปุนได้อนุญาติให้ธุรกิจกำหนดมาตรการควบคุมเอไอเอง ภายใต้แนวทางกำกับดูแลของรัฐบาล แต่ขณะนี้ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาเกี่ยวกับการกำกับดูแลบริษัทพัฒนาเอไอทั้งในและต่างประเทศขนาดใหญ่ เพื่อจำกัดความเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การเผยแพร่ข้อมูลที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด

โดยสภากลยุทธ์เอไอของญี่ปุ่นได้เริ่มหารือเมื่อเดือน พ.ค. เพื่อสร้างกรอบการดำเนินงานทางกฎหมายเกี่ยวกับเอไอ และอาจวิเคราะห์แนวทางการดำเนินงานจากสหรัฐและยุโรป

ส่วนในเกาหลีใต้ ร่างกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมเอไอและกรอบการสร้างเอไอที่น่าเชื่อถือ (Act on Promotion of AI Industry and Framework for Establishing Trustworthy AI) กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณา

พันธมิตรธุรกิจด้านกฎหมาย Lee & Ko เผยว่า เกาหลีใต้กำลังพัฒนาสภาพแวดล้อมทางด้านกฎหมายและกฎระเบียบ เพื่อส่งเสริมการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมเอไอในระดับโลก และป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

ขณะที่สิงคโปร์ยังคงห่างไกลจากการกำหนดกฎระเบียบควบคุมเอไอแบบยุโรป และเลือกที่จะออกแนวทางแนะนำเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีแทน และเนื่องจากไม่มีกรอบทางกฎหมายที่ชัดเจน ธุรกิจบางแห่งจึงกำหนดกฎกำกับการใช้เอไอด้วยตนเอง

‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ ขอเอเชีย ‘ลดช่องว่าง’ กฎควบคุมเอไอ

บริษัทเอไอที่อยู่ในประเทศเอเชีย รวมถึง จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ กล่าวกับนิกเคอิ เอเชียว่า บริษัทต้องการร่วมงานกับผู้บัญญัติกฎหมายในภูมิภาค เพื่อร่วมกำหนดกฎหมายและกฎระเบียบทั่วไปเกี่ยวกับเอไอ

“ไปรยา มหาจัน” หัวหน้าฝ่านนโยบายสารธารณะในเอเชียแปซิฟิกของบริษัท Verizon แนะว่า หลายประเทศในเอเชียควรพิจารณาถึงการจัดตั้งหน่วยงานกำกับดูแลเกี่ยวกับเอไอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องว่างในกฎระเบียบ และหลีกเลี่ยงการบังคับใช้กฎเอไอซับซ้อนในหลายหน่วยงาน

ด้านบริษัท SAP ผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ระดับองค์กร ที่ใช้เอไอในการสร้างรายงงานให้กับลูกค้า กล่าวกับนิกเคอิ เอเชียว่า รัฐบาลและผู้บัญญัติกฎหมายหลายประเทศ มีบทบาทสำคัญในการสร้างกรอบกฎหมายและนโยบายต่าง ๆ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้เอไอ

นิกเคอิ เอเชียระบุว่า หากการเจรจาเกี่ยวกับกฎระเบียบเอไอในระดับภูมิภาคเอเชียล้มเหลว อาจส่งผลให้เอเชียมีสิทธิมีเสียงในการหารือเกี่ยวกับเอไอในระดับโลกได้น้อยลง

อย่างไรก็ตาม “อามิตา เฮย์ล็อก” หุ้นส่วนเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม จากบริษัทกฎหมายเมเยอร์ บราวน์ (Mayer Brown) บอกว่า ด้วยการเมืองและความหลากหลายของอุตสาหกรรมดิจิทัลในเอเชีย ทำให้การกำหนดนโยบายทั่วไปเกี่ยวกับเอไอในภูมิภาคเป็นไปได้ยากลำบากมาก

“ผู้ประกอบการในเอเชียควรเตรียมพร้อมเพื่อทำความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในกรอบกฎหมายที่แตกต่างกันไป”

อ้างอิง: Nikkei Asia

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

เราทำได้! ฝรั่งเศสโล่งอก พิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ผ่านไปด้วยดี

ประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง เลือกที่จะทำ พิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ใน แม่น้ำแซน แทนที่จะเป็นใ...

ทรัมป์ เตรียมกลับไปหาเสียงเมืองบัตเลอร์ โพลนำแฮร์ริส 2%

ทรัมป์ เผยเมื่อวันศุกร์ (26 ก.ค.) ว่า การหาเสียงที่เมืองบัตเลอร์ เพื่อเป็นเกียรติแด่นายคอเรย์ คอมเพอ...

วินาศกรรมรถไฟก่อนโอลิมปิก รัสเซียเกี่ยวข้องหรือไม่?

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันศุกร์ (26 ก.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุลอบวางเพลิงกล่องสัญญาณเคเบ...

พิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ผ่านเรื่องเล่าการปฏิวัติ สู่เสรีภาพและความเท่าเทียม

พิธีเปิดโอลิมปิก 2024 ปารีสเกมส์ จบลงไปแล้วอย่างราบรื่น ครั้งแรกที่ไม่ได้จัดขบวนพาเหรดในสนามกีฬา เพร...