‘การ์ทเนอร์’ แนะเส้นทาง สู่ ‘ความยั่งยืน’ ยุค AI พลิกโลก

ยุคที่ธุรกิจดิจิทัลขยายตัวอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยี AI พัฒนารุดหน้าไปอย่างก้าวกระโดด ส่งผลทำให้ความต้องการอุปกรณ์ปลายทางใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น...

ไม่ว่าจะเป็น AI PC หรือ GenAI สมาร์ตโฟน ต่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทวีคูณ และนั่นทำให้องค์กรส่วนใหญ่ต้องเผชิญกับต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและการเงินอย่างมหาศาล

ออทัมน์ สแตนนิช ผู้อำนวยการฝ่ายนักวิเคราะห์ การ์ทเนอร์ กล่าวว่า อุปกรณ์ปลายทางหรือ Endpoint Devices มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และสร้างขยะภายในองค์กรอย่างมาก

จากรายงาน Global e-Waste Monitor ครั้งที่ 4 ขององค์การสหประชาชาติ พบว่า ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 753,000 ตันในปี 2565 สูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รองจากอินโดนีเซีย แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายเฉพาะสำหรับการควบคุมและการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย

จัดการวงจรชีวิต ‘อุปกรณ์’ 

วันนี้ ผู้บริหารฝ่ายจัดการโครงสร้างพื้นฐานและฝ่ายปฏิบัติการ (I&O) ต่างให้ความสำคัญกับการจัดการความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมของอุปกรณ์ปลายทางมากขึ้น แต่มีอีกหลายคนยังไม่ตระหนักว่าการตัดสินใจในเรื่องการจัดการวงจรชีวิตของอุปกรณ์

ตั้งแต่การจัดซื้อ-จัดส่ง ไปจนถึงการจัดการสินทรัพย์และการปลดระวางการใช้งานอุปกรณ์นั้นส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพการบริหารและจัดการความยั่งยืนด้านไอที 

อย่างไรก็ดี การตัดสินใจเลือกใช้อุปกรณ์ที่ยั่งยืนส่งผลดีต่อธุรกิจรอบด้าน ไม่เพียงแต่ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่าย แต่ยังปรับปรุงกระบวนการทำงานให้ทันสมัย เพิ่มความยืดหยุ่น ยกระดับความพึงพอใจของพนักงานและดึงดูดผู้มีทักษะความสามารถสูงให้มาร่วมงานกับองค์กร

“การบรรลุเป้าหมายวงจรชีวิตอุปกรณ์ที่ยั่งยืนหรือ Sustainable Device Life Cycle คือโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญ และระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนยังเป็นแนวทางสำคัญที่ช่วยบรรลุเป้าหมายนี้ ไม่ใช่แค่การลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ แต่เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้และยืดอายุการใช้อุปกรณ์ให้ยาวนานที่สุด”

โดย ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนไอที หรือ IT Circular Economy เป็นแนวทางปฏิบัติที่ช่วยให้ธุรกิจบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน ผ่านการออกแบบและจัดการวงจรชีวิตของอุปกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม และสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมีส่วนร่วม ที่สำคัญประกอบด้วย

ยืดอายุ ลดขยะอิเล็กฯ

บริหารจัดการอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิม (Existing assets) : องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายความยั่งยืน โดยลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์และประหยัดเงินได้ด้วยการจัดการอุปกรณ์ปลายทางอย่างมีประสิทธิภาพ

ขั้นตอนแรกคือการจัดทำรายการ แคตตาล็อกและระบุจำนวนอุปกรณ์ปลายทางทั้งหมดไว้อย่างละเอียด เมื่อมีรายการอุปกรณ์ครบถ้วน ขั้นตอนต่อไปคือการวิเคราะห์จำนวนอุปกรณ์ต่อพนักงาน เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานแต่ละคนได้รับการจัดสรรอุปกรณ์เหมาะสมต่อการใช้งาน และเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ได้อย่างเต็มที่

การลดขยะและลดการปล่อยมลพิษเป็นเป้าหมายสำคัญขององค์กรทั่วโลก ดังนั้นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่งคือการนำกลับมาใช้ซ้ำหรือซ่อมแซมอุปกรณ์ที่มีอยู่เดิมเพื่อทดแทนการผลิตใหม่หรือรีไซเคิล เนื่องจากอุปกรณ์เหล่านี้มี “ผลต่อการปล่อยคาร์บอน" และ "การใช้พลังงาน"

ยืดอายุอุปกรณ์ (Device life span) : องค์กรส่วนใหญ่กำลังยืดรอบการเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ให้กับพนักงาน โดยเฉลี่ยแล้วแล็ปท็อปจะถูกเปลี่ยนใหม่ทุกๆ สี่ถึงห้าปี และอุปกรณ์เคลื่อนที่เปลี่ยนใหม่ทุกสามปี

 “กลยุทธ์ยืดอายุอุปกรณ์ช่วยลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ประหยัดต้นทุน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตอุปกรณ์ใหม่ๆ”

ตั้งเป็นเกณฑ์หลัก ‘ลงทุนไอที’

เวอร์ชวลเดสก์ท็อป (Virtual desktops) : ผลสำรวจล่าสุดของการ์ทเนอร์ยังพบว่า Desktop as a Service (DaaS) หรือโครงสร้างพื้นฐานเวอร์ชวลเดสก์ท็อป (VDI) นั้นติด 10 อันดับแรกของโครงการริเริ่มที่มีการนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายมากที่สุด เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุปกรณ์ไอที

การกำหนดค่าสถานะพลังงาน (Power state configurations) : ความเสถียรของอุปกรณ์ระยะยาวมักขึ้นอยู่กับว่าพนักงานนั้นดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์อย่างไร โดยแบตเตอรี่มักเป็นสิ่งแรกที่จะเสื่อมสภาพ ดังนั้นการลดการใช้พลังงานตลอดการใช้งานจะช่วยถนอมแบตเตอรี่และลดภาวะแบตเสื่อมก่อนเวลาอันควร

นอกจากนี้ ตั้งค่าอุปกรณ์ให้ทำงานในสถานะพลังงานต่ำที่สุดเท่าที่จำเป็นต่อการทำงาน โดยองค์กรควรกำหนดให้พนักงานทำแบบเดียวกันทั้งหมด

อุปกรณ์ที่ได้รับการปรับปรุงเสมือนใหม่ (Refurbished equipment) : พนักงานที่ไม่ต้องการใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ให้พิจารณาใช้อุปกรณ์ที่ได้รับการปรับปรุงเสมือนใหม่แต่คงประสิทธิการใช้งานเดิมไว้

มีรายงานที่มากขึ้นว่าบริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายด้านฮาร์ดแวร์และขยะอิเล็กทรอนิกส์ลงอย่างมากจากแนวทางนี้ ทั้งช่วยให้ภาพลักษณ์องค์กรดีขึ้น

การจัดหาอุปกรณ์ (Device procurement) : ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมต้องนำมาใช้เป็นเกณฑ์หลักเพื่อพิจารณาการจัดซื้อ ตั้งแต่ผู้ขายว่ามีการแชร์ข้อมูลประสิทธิภาพความยั่งยืนอย่างโปร่งใสหรือไม่ หรือมีการเลือกบรรจุภัณฑ์จัดส่งอุปกรณ์อย่างมีความรับผิดชอบ มีฉลากการรับรองประสิทธิภาพสิ่งแวดล้อมหรือ Ecolabel Certifications และมีการระบุข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ชัดเจน

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องนำมาประเมินคือแนวทางของบริการด้านการจัดการอุปกรณ์หรือ Managed Device Life Cycle Services (MDLS) และการนำอุปกรณ์ส่วนตัวมาทำงานหรือ Bring Your Own Device (BYOD) ซึ่งช่วยรับประกันว่าการติดตาม การจัดการ และการกำจัดอุปกรณ์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงต่อสิ่งแวดล้อม

“BYOD จะช่วยลดภาระภาพรวมของอุปกรณ์ที่องค์กรต้องดูแลที่ต้องระบุไว้ในการรายงานและถูกประเมินด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งแนวทางนี้สามารถช่วยให้องค์กรลดการเพิ่มอุปกรณ์ปลายทางใหม่ได้อย่างมหาศาล”

คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ



หมวดเดียวกัน

ส.อาหารสัตว์ ร้อง นายกฯ เสนอเคาะประกันรายได้ เปิดนำเข้าวัตถุดิบ

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย เปิดเผยว่า จากข้อเรียกร้องของเกษตรกรผู้ปลูก...

ทำได้ไง "รายา" เผยเบื้องหลังเซฟจุดโทษมหัศจรรย์ ช่วย "อาร์เซนอล" ไม่แพ้ UCL นัดแรก (คลิป)

เซฟนี้มีที่มา! ดาบิด รายา เผยเบื้องหลังเซฟจุดโทษ-ลูกโหม่งซ้ำสุดมหัศจรรย์ ช่วยให้ อาร์เซนอล ไม่แพ้ อต...

'ไทยสมายล์บัส' เผย 9 เดือนแรก ผู้โดยสารรถเมล์ไฟฟ้าพุ่ง 3.5 แสนคนต่อวัน

นางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) เปิดเผยว่า...

เปิดจุดสังเกต “อิหร่าน” ส่อ “การละคร” เลี่ยงเป็นแชมป์กลุ่ม เพื่อดวล “ไทย” ฟุตซอลโลก 2024

สังเกตจุดนักฟุตซอลอิหร่าน อาจการละคร เพื่อเลี่ยงเป็นแชมป์กลุ่ม เข้ารอบน็อกเอาต์ ฟุตซอลโลก 2026 วันทึ...