16 ก.ย. วันโอโซนโลก "หลุมโอโซนแอนตาร์กติก" จะฟื้นตัวในปี 2066 หรือไม่?
วันที่ส่ง: 17/09/2024 - ผู้เขียน: กรุงเทพธุรกิจ
วันที่ 16 กันยายนของทุกปีเป็นวันโอโซนโลก (World Ozone Day) ซึ่งในปี 2024 นี้มีการจัดกิจกรรมทั่วโลกเพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของการปกป้องชั้นโอโซน เพราะโอโซนช่วยป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) จากดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
โดยธีมของวันโอโซนโลกปีนี้ คือ "Montreal Protocol: Climate Actions" เน้นถึงบทบาทสำคัญของพิธีสารมอนทรีออล (Montreal Protocol) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องชั้นบรรยากาศโอโซนจากสารเคมีที่ทำลายโอโซน เช่น คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) และสารประกอบอื่น ๆ ที่มีคลอรีนหรือโบรมีน
พิธีสารมอนทรีออล
พิธีสารมอนทรีออลถูกลงนามเมื่อวันที่ 16 กันยายน 1987 และเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 1989 โดยปัจจุบันได้มีความก้าวหน้าอย่างมากในการปกป้องชั้นโอโซน และบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตัวอย่างความก้าวหน้าของพิธีสารนี้ มีดังนี้
1. การฟื้นตัวของชั้นโอโซน : พิธีสารประสบความสำเร็จในการยุติการใช้สารทำลายชั้นโอโซนเกือบ 99% ทำให้ชั้นโอโซนฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด และชั้นโอโซนคาดว่าจะกลับสู่ระดับปี 1980 ภายในปี 2040 โดยหลุมโอโซนแอนตาร์กติกจะฟื้นตัวประมาณปี 2066
2. การบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : พิธีสารมีส่วนช่วยในการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยการลดศักยภาพในการทำให้โลกร้อนของสารทำลายชั้นโอโซน การแก้ไขเพิ่มเติมคิกาลี (Kigali Amendment) ในปี 2016 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2019 โดยประเทศที่เข้าร่วมจะต้องลดการใช้สารไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่ง HFCs เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีศักยภาพสูง โดยการแก้ไขนี้คาดว่าจะช่วยลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ถึง 0.5°C ภายในปี 2100
3. ประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม : การลดสารทำลายชั้นโอโซนได้ลดการสัมผัสของมนุษย์ต่อรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่เป็นอันตราย ซึ่งสามารถทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังและต้อกระจก และยังเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ
4. ผลกระทบทางเศรษฐกิจ : พิธีสารได้สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างมาก รวมถึงการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขมากกว่าหนึ่งล้านล้านดอลลาร์ตั้งแต่เริ่มต้น
พิธีสารมอนทรีออลถูกยกย่องว่าเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จของความร่วมมือระหว่างประเทศในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลก เป็นเครื่องเตือนใจถึงสิ่งที่สามารถทำได้เมื่อประเทศต่าง ๆ ทำงานร่วมกันเพื่อเป้าหมายร่วมกัน
หลุมโอโซนขั้วโลกใต้
Antarctic Ozone Hole คือ บริเวณในชั้นบรรยากาศโอโซนที่มีความเข้มข้นของโอโซนลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูใบไม้ผลิของซีกโลกใต้ (กันยายน-พฤศจิกายน) หลุมโอโซนนี้เกิดขึ้นเหนือทวีปแอนตาร์กติกาและมีขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงปี 1980
สาเหตุหลักของการเกิดหลุมโอโซนคือ CFCs และสารประกอบอื่น ๆ ที่มีคลอรีนและโบรมีน เมื่อสารเหล่านี้ถูกปล่อยขึ้นไปในบรรยากาศ พวกมันจะทำลายโมเลกุลโอโซน ทำให้ชั้นโอโซนบางลง
ผลกระทบของหลุมโอโซนคือการเพิ่มขึ้นของรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่มาถึงพื้นโลก ซึ่งสามารถทำให้เกิดปัญหาสุขภาพเช่น มะเร็งผิวหนัง และทำลายระบบนิเวศ
ตามรายงานล่าสุด หลุมโอโซนแอนตาร์กติกคาดว่าจะฟื้นตัวกลับสู่ระดับปี 1980 ประมาณปี 2066 การฟื้นตัวนี้จะเกิดขึ้นได้เนื่องจากความสำเร็จของพิธีสารมอนทรีออล ซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่ลดการใช้สารทำลายโอโซน
อย่างไรก็ตาม กระบวนการฟื้นตัวเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่มีการปรับปรุงที่เห็นได้ชัดเจนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยชั้นโอโซนในแถบแอนตาร์กติกคาดว่าจะฟื้นตัวภายในปี 2066 และส่วนที่เหลือของโลกภายในปี 2040
ผลกระทบของสาร CFCs และ HCFCs ในไทย
ในปี 1992 ประเทศไทยได้ลงนามในพิธีสารมอนทรีออล เพื่อยุติการใช้สาร CFCs ที่ทำลายชั้นโอโซน อย่างไรก็ตาม การใช้สาร HCFCs ที่นำมาแทนที่สาร CFCs กลับเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงตั้งเป้าลดการใช้สาร HCFCs
จากข้อมูลของ World Bank เมื่อปี 2020 ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศรายใหญ่อันดับสองของโลก ผลิตเครื่องปรับอากาศประมาณ 16 ล้านเครื่องต่อปี โดย 90 เปอร์เซ็นต์ของเครื่องปรับอากาศถูกส่งออก นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นหนึ่งใน 10 ผู้นำเข้าและผู้บริโภคสารเคมีไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) รายใหญ่ที่สุด โดยนำเข้ามากกว่า 18,000 เมตริกตันในปี 2012
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้ดำเนินการอย่างแข็งขันในการเลิกใช้สาร HCFCs ตามพันธกรณีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ด้วยได้รับการสนุนสนุนจาก World Bank ดังนี้
1. การสนับสนุนทางการเงิน : นับตั้งแต่ปี 1994 ประเทศไทยได้รับเงินสนับสนุนราว 70 ล้านเหรียญสหรัฐฯ จากธนาคารโลก เพื่อการสนับสนุนเพื่อเลิกใช้สารเคมี CFC และ HCFC ด้วยการสนับสนุนของธนาคารโลก ตั้งเป้าให้ไทยลดการนำเข้าและการใช้ HCFCs ให้ได้มากกว่า 60% ภายในปี 2023 และยุติการใช้ HCFC อย่างสมบูรณ์ภายในปี 2030
2. ความสำเร็จในการเลิกใช้ : ระยะแรกยุติการใช้ HCFCs ในภาคการผลิตเครื่องปรับอากาศของประเทศไทย และระยะที่สองมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือช่างเทคนิคด้านการทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศในการบำรุงรักษาและติดตั้งอุปกรณ์ทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อโอโซนและสภาพภูมิอากาศ
3. มาตรการทางกฎหมาย : ประเทศไทยได้ดำเนินการห้ามหลายประการเพื่อให้แน่ใจว่าการลด HCFCs จะยั่งยืน เช่น มีการห้ามใช้ HCFC-22 ในการผลิตเครื่องปรับอากาศขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีความสามารถในการทำความเย็น 50,000 BTU/hr หรือต่ำกว่า นอกจากนี้ การนำเข้าอุปกรณ์เครื่องปรับอากาศที่ใช้ HCFC-22 ที่มีความสามารถในการทำความเย็นต่ำกว่า 50,000 BTU/hr ถูกห้ามตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2018
4. การสร้างความตระหนักและการฝึกอบรม : โครงการยังมุ่งเน้นไปที่การสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการฝึกอบรมทักษะให้กับหน่วยงานรัฐบาลและช่างเทคนิค
ธนาคารโลกได้ร่วมมือกับรัฐบาลและภาคเอกชนของประเทศไทยตั้งแต่ปี 1994 เพื่อช่วยลดการใช้สารทำลายโอโซนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การทำความเย็น การปรับอากาศ การผลิตโฟม การผลิตสเปรย์ และสารหน่วงไฟ สามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากกว่า 38.21 ล้านตันต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับการนำรถยนต์นั่งส่วนบุคคลประมาณ 8.1 ล้านคันออกจากถนน หรือการปิดการปล่อยก๊าซจากโรงไฟฟ้าถ่านหินเกือบ 10 แห่ง
ทั้งนี้ เป้าหมายการเลิกใช้ HCFC ได้สร้างความท้าทายให้กับผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศหลายราย โดบเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในภาคอุตสาหกรรมโฟมฉนวนประเภทต่าง ๆ
อ้างอิง: UNEP, Ozone Watch, World Bank
คำแถลงปฏิเสธความรับผิดชอบ: ลิขสิทธิ์ของบทความนี้เป็นของผู้เขียนต้นฉบับ การเผยแพร่ซ้ำบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเท่านั้นและไม่ถือเป็นคำแนะนำในการลงทุน หากมีการละเมิดกรุณาติดต่อเราทันที เราจะทำการแก้ไขหรือลบตามความเหมาะสม ขอบคุณ
อิสราเอลโจมตีพุ่งเป้าสำนักงานใหญ่ข่าวกรองฮิซบอลเลาะห์ในเบรุต
สำนักข่าวรอยเตอร์สรายงานตามปากคำผู้เห็นเหตุการณ์ว่า ได้ยินเสียงระเบิดหนึ่งครั้งและเห็นกลุ่มควันลอยเห...
กองทัพ ‘สหรัฐ’ เคลื่อนทัพทลายแหล่ง ‘กบฏฮูตี’ 15 แห่งใน ‘เยเมน’
กองบัญชาการกลางสหรัฐได้โพสต์ใน X ว่า การโจมตีฮูตี มีขึ้นเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นวานน...
บัณฑิตจีนหางานยากมาก สมัครไป 50 แห่ง แต่ไร้คำตอบ เลยหันไป ‘เกษียณอายุ’ ในชนบทแทน
หากคิดว่าหางานใน “ไทย” ยากแล้ว ใน “จีน” กลับยิ่งหางานยากกว่ามาก แม้มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก...
รู้จัก ‘สายมู’เบลเยียม ท่องสำนักไล่ปีศาจแห่งบรัสเซลส์
เทียร์รี โมเซอร์ ผู้เป็นทั้งนักบวชคาทอลิกและหมอผีมีพันธกิจสองอย่าง นั่นคือการบรรเทาความทุกข์ของผู้คน...
ยอดวิว